ความสำคัญของวันคริสต์มาส
คริสต์มาส เป็นวันที่มีความสำคัญอย่างยิ่งวันหนึ่งในการเป็นคริสเตียนชน มิใช่เป็นวันสำคัญฝ่ายร่างกายจัดงาน รื่นเริงภายนอกเท่านั้น ซึ่งเป็นแต่เพียงเปลือกนอกของการฉลองคริสต์มาส แต่แก่นแท้อยู่ที่ความรัก ของพระเจ้าที่ มีต่อโลกมนุษย์ นั่นคือ พระเจ้าทรงรักมนุษย์ มากจน ถึงกับยอมส่งพระบุตรแต่องค์เดียว ของพระองค์ ให้มาเกิดเป็น มนุษย์ มีเนื้อหนังมังสา ชื่อว่า “เยซู”
การที่พระเจ้าได้ถ่อมองค์ และเกียรติ ลงมาเกิดเป็นมนุษย์ เพื่อช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นจากการเป็นทาส ของความชั่ว และบาปต่างๆ นั่นเอง ดังนั้นความสำคัญของวันคริสต์มาสจึงอยู่ที่การฉลองความรักที่พระเจ้ามีต่อโลกมนุษย์ อย่างเป็นจริง เป็นจัง และเห็นตัวตนในพระเยซูคริสต์ที่มาเกิดเป็นมนุษย์ มากกว่าสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น..
ข้อพระวจนะที่เกี่ยวข้อง
- ลูกา 1:35 ทูตสวรรค์จึงตอบนางว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์จะเสด็จลงมาเหนือเธอ และฤทธิ์เดชของผู้สูงสุดจะปกเธอ เพราะฉะนั้นองค์บริสุทธิ์ที่เกิดมานั้นจะได้ชื่อว่าเป็นพระบุตรของพระเจ้า
-
- มัทธิว 1:18 “เรื่องการประสูติของพระเยซูคริสต์เป็นดังนี้ คือมารีย์ผู้เป็นมารดาของพระเยซูนั้น เดิมโยเซฟได้สู่ขอหมั้นกันไว้แล้ว ก่อนที่จะได้อยู่กินด้วยกันก็ปรากฏว่า มารีย์มีครรภ์แล้วด้วยเดชพระวิญญาณบริสุทธิ์”
-
- มัทธิว 1:21 “เธอจะให้พระกำเนิดบุตรชาย แล้วจงเรียกนามท่านว่า เยซู เพราะว่าท่านจะทรงช่วยชนชาติของท่านให้รอดจากบาปของพวกเขา”
ประวัติความเป็นมาวันคริสต์มาส
คริสต์มาส (อังกฤษ: Christmas; อังกฤษเก่า: Crīstesmæsse, หมายถึง “พิธีมิสซาของพระคริสต์“) หรือ วันสมโภชพระคริสตสมภพ (อังกฤษ: Feast of the Nativity) จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อเฉลิมฉลองการประสูติของพระเยซู[6][7] เป็นวันหยุดทางศาสนาและวัฒนธรรม ประชากรหลายพันล้านคนทั่วโลกจัดการเฉลิมฉลองในวันที่ 25 ธันวาคม วันดังกล่าวเน้นปีพิธีกรรมของคริสต์ศาสนิกชนเป็นสำคัญ วันคริสต์มาสเป็นวันปิดเทศกาลเตรียมการรับเสด็จ (Advent) และวันเริ่มต้นเทศกาลพระคริสตสมภพ(Christmastide) สิบสองวัน[8] คริสต์มาสเป็นวันหยุดราชการในหลายประเทศทั่วโลก และมีผู้ที่ไม่ใช่คริสต์ศาสนิกชนหันมาเฉลิมฉลองกันมากขึ้น[1][9][10] และเป็นส่วนสำคัญในคริสต์มาสและฤดูวันหยุด
วันที่พระเยซูประสูติจริง ๆ นั้นไม่ทราบแน่ชัด แต่นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่คะเนไว้ว่าราว 2 ปีก่อน ค.ศ. และ ค.ศ. 7[11] ในช่วงต้นถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 4 ศาสนาคริสต์ตะวันตกกำหนดวันคริสต์มาสตรงกับวันที่ 25 ธันวาคม ซึ่งต่อมาศาสนาคริสต์ตะวันออกได้รับวันดังกล่าวไปด้วย[12][13] มีทฤษฎีอธิบายว่า เหตุผลที่เลือกวันที่ 25 ธันวาคมเป็นวันเฉลิมฉลองคริสตสมภพนั้นเพราะเป็นเวลาเก้าเดือนพอดีหลังคริสต์ศาสนิกชนสมัยแรกเฉลิมฉลองวันแม่พระรับสาร[14] หรือตรงกับวันเหมายันของโรมัน[15] หรือเทศกาลฤดูหนาวเพเกินโบราณเพื่อยุติการเฉลิมฉลองเหล่านี้และแทนที่ด้วยการฉลองของคริสต์ศาสนิกชน[14][16]
วันการเฉลิมฉลองในศาสนาคริสต์ตะวันออกแต่เดิม คือ วันที่ 6 มกราคม โดยเชื่อมโยงกับวันสมโภชพระคริสต์แสดงองค์ ในปัจจุบัน วันดังกล่าวยังเป็นวันเฉลิมฉลองสำหรับคริสตจักรอาร์มีเนียอะโพสโตลิกและในประเทศอาร์มีเนียซึ่งเป็นวันหยุดราชการ จนถึง ค.ศ. 2011 ระหว่างปฏิทินเกรโกเรียนสมัยใหม่และปฏิทินจูเลียนที่เก่ากว่า มีวันคลาดเคลื่อนกันอยู่ 13 วัน ผู้ที่ยังใช้ปฏิทินจูเลียนหรือเทียบเท่าต่อไปจึงเฉลิมฉลองวันที่ 25 ธันวาคมและ 6 มกราคมที่ประชากรโลกส่วนใหญ่เฉลิมฉลอง ในวันที่ 7 มกราคมและ 19 มกราคมแทน ด้วยเหตุนี้ เอธิโอเปีย รัสเซีย ยูเครน มาเซโดเนียและมอลโดวาจึงเฉลิมฉลองคริสต์มาส ทั้งที่เป็นวันสมโภชของคริสต์ศาสนิกชนและที่เป็นวันหยุดราชการ ตามในปฏิทินเกรโกเรียนคือ วันที่ 7 มกราคม
ประเพณีการเฉลิมฉลองอันเป็นที่นิยมที่เหมือนกันในหลายประเทศมีการผสมผสานแนวคิดและกำเนิดก่อนศาสนาคริสต์ สมัยศาสนาคริสต์ และฆราวาส[17] ประเพณีสมัยใหม่ที่ได้รับความนิยมในวันดังกล่าวมีการให้ของขวัญ เพลงคริสต์มาสและเพลงเทศกาล การแลกเปลี่ยนการ์ดคริสต์มาส การตกแต่งโบสถ์ มื้อพิเศษ และการจัดแสดงการประดับตกแต่งหลายอย่าง รวมทั้งต้นคริสต์มาสแสงไฟ ฉากการประสูติของพระเยซู มาลัย พวงหรีด มิสเซิลโทและฮอลลี นอกเหนือจากนั้น บุคคลที่เกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิดและแทนกันได้บ่อยครั้งหลายคน เช่น ซานตาคลอส ฟาเธอร์คริสต์มาส นักบุญนิโคลัส และคริสต์คินด์ เกี่ยวข้องกับการให้ของขวัญแก่เด็กในเทศกาลคริสต์มาส และต่างมีประเพณีและตำนานเป็นของตนเอง[18] เพราะการให้ของขวัญและอีกหลายส่วนของเทศกาลคริสต์มาสเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในบรรดาคริสต์ศาสนิกชนและผู้ที่มิใช่ วันคริสต์มาสจึงเป็นเหตุสำคัญและช่วงลดราคาหลักสำหรับผู้ค้าปลีกและธุรกิจ ผลกระทบทางเศรษฐกิจของคริสต์มาสเป็นปัจจัยซึ่งเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมาในหลายภูมิภาคทั่วโลก
ข้อมูลจาก https://th.wikipedia.org/wiki/คริสต์มาส